วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
เหรียญปั้มข้างกระบอกหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรกบล๊อกหน้าแก่ เหรียญปั้มข้างกระบอกหลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน รุ่นแรกบล๊อกหน้าแก่ พระครูสิงคิคุณธาดา (ม่วง จันทสโร) วัดบ้านทวน อ.บ้านทวน(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี) จ.กาญจนบุรี ชาตะเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ ณ บ้าน ต.บ้านทวน จ.กาญจนบุรี โยมบิดาชื่อมั่น โยมมารดาชื่อใย สมัยนั้นไม่มีนามสกุล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน พออายุได้ ๑๑ ขวบ ซึ่งเป็นวัยควรแก่การเรียน บิดามารดาจึงได้นำไปฝากพระอธิการศรี วัดบ้านทวนซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อศึกษาหนังสือไทยและขอมอย่างโบราณ สมัยนั้นต้องไปเรียนที่วัด กุลบุตรที่ไปเรียนต้องปรนนิบัติอุปฐากอาจารย์ คือเป็นศิษย์พระ รับใช้ท่าน กินนอนที่วัดเสร็จ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแต่อย่างใดเลย การเรียนมิใช่จะเรียนแต่หนังสือแต่อย่างเดียว ยังได้ฝึกวิชาการต่างๆ เช่น การช่างและวิทยาคนอื่นๆ ซึ่งนิยมกันในครั้งนั้นเนื่องจากวัดเป็นแหล่งกำเนิดศิลปะวิทยาการทั้งปวง ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนมีความรู้อ่านออกเขียนได้สมควรแก่ความนิยมในสมัยนั้นแล้ว ก็ได้ลาอาจารย์ออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ได้เป็นกำลังของครอบครัว ด้วยนิสัยท่านว่านอนสอนง่าย ขยันขันแข็ง ทั้งยังเป็นคนมีร่างกายแข็งแรงใจคอกว้างขวาง กล้าหาญ มีสติปัญญา จะเล่าเรียนวิชาแขนงใด ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยเหตุนี้ พอรุ่นหนุ่มก็มีสมัครพรรคพวกเพื่อนฝูงมาก มีลักษณะเป็นหัวหน้าคน พูดจริงทำจริง เด็ดขาด แต่ใจบุญ เพราะไปอยู่วัดหลายปี เมื่ออายุ ๒๑ ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านทวน โดยมี พระอธิการศรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ช้าง วัดบ้านทวน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนพระอนุสาวนาจารย์ยังหาหลักฐานอยู่ ยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นใคร เพราะเป็นเรื่องเก่าแก่หาคนรู้ยากจริง เพียงแต่คนนี้เล่า คนโน้นเล่า ฟังแล้วยังสับสนอยู่ พอจะเชื่อได้ว่าท่านเป็นพระธุดงค์มาจากจังหวัดสมุทรสงคราม มีวิชาทำแหวนพิรอดอันลือชื่อ ถักลวดลายได้งดงาม มีทั้งแหวนพิรอดใส่นิ้วและสวมแขน ดังจะได้กล่าวต่อไป ท่านม่วง ได้ฉายาว่า จันทสโร บวชแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัย ท่องบ่นสวดมนต์ได้แม่นยำจนจบพระปาฏิโมกข์ เป็นที่น่าสังเกตว่า พระภิกษุในชนบทสวดมนต์เก่ง จะเอาบทไหนได้ทั้งนั้น ไม่เคยสวดแล้วล้ม เสียงดังฟังชัด การทำนอง สังโยค ลีลาไพเราะน่าฟัง จะเอาเร็วก็เพราะ ช้าก็เพราะ สมัยนั้นนอกจากเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ยังชอบเรียนธรรมกรรมฐาน สมถะ วิปัสสนาธุระ และไปฝึกพลังจิต คือการเดินรุกขมูลธุดงค์ในป่าลึกเข้าผจญต่อความทุกข์ทรมานและเสี่ยงกับสัตว์ ร้าย เรียกว่าใครดีใครอยู่ ถ้าพลาดก็ไม่ได้กลับวัด เอาชีวิตไปทิ้งเสียกลางป่าก็มาก ด้วยโรคภัยไข้เจ็บมันรุนแรง สมัยก่อนมันทุรกันดารจริงๆไม่เจริญเหมือนทุกวันนี้ อาณาเขตเมืองกาญจน์ติดต่อกับประเทศพม่า การเดินธุดงค์ก็นิยมไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองเมืองย่างกุ้ง พระมุเตาเมืองหงสาวดี และพระภิกษุม่วงองค์นี้ก็ธุดงค์ไปถึงพม่าดังกล่าว นับว่าท่านมีความอดทนต่อความยากลำบากด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ท่านเป็นผู้ที่ขยันและเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ไม่เคยขาดทำวัตรสวดมนต์ สนใจในการศึกษาเล่าเรียน พอบวชได้ ๘ พรรษา ก็ได้เป็นคู่สวดประจำวัดบ้านทวน พอพรรษา๑๒ เจ้าอาวาสวัดบ้านทวนว่างลง ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบล เรียกว่าเจ้าอธิการม่วง ท่านมีความสามารถทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จึงมีคนเลื่อมใสเคารพนับถือเป็นอันมาก พรรษา๒๑ ได้เป็นพระอุปัชฌายะ อุปสมบทกุลบุตรปีหนึ่งๆมากมาย ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอบ้านทวน ต่อมาสมัย ร.๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลราชบุรี เสด็จเมืองกาญจนบุรี ทรงเห็นความเป็นไปของคณะสงฆ์ในจังหวัดกาญจนบุรีเรียบร้อย ก็โปรดและทรงยกย่องเจ้าวัดเจ้าคณะนั้นๆ นับแต่พระครูวิสุทธิรังสี (เปลี่ยน) เจ้าคณะเมือง ตลอดมาถึงเจ้าคณะ แขวงอำเภอและพระคณาธิการ อนึ่งในการนี้ เจ้าอธิการม่วง วัดบ้านทวน อายุเวลานั้นชราถึง ๘๑ ปีแล้ว ได้เดินทางไปรับเสด็จถึงเมืองกาญจนบุรี และทูลการงานได้คล่องแคล่ว ทรงโปรดว่า ไม่วางตนว่าเป็นผู้ชราและอยู่เฉยเสีย ยังมีน้ำใจอยากรู้อยากเห็นหาความรู้ สมกับคำของพระพุทธเจ้าที่ว่า เด็กที่เล่าเรียนมีความรู้ สติปัญญาย่อมดีกว่าคนแก่ที่ไม่ได้เล่าเรียนไม่มีความรู้ ดีแต่มีอายุแก่แต่อย่างเดียว จะเห็นได้ว่า เจ้าอธิการม่วงท่านไม่ถือความมีอายุของท่าน ท่านสนใจเรื่องวิชาความรู้เป็นสำคัญ ดังนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงเสด็จตอบถึงวัดบ้านทวน เป็นการแสดงน้ำพระทัยและรับสงเคราะห์ในเรื่องตำรับตำราที่จะเล่าเรียนพระ ธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแต่งไว้ เช่นนวโกวาท วินัยมุข บุพสิกขาวรรณา ฯลฯ นับว่าเจ้าอธิการม่วงได้เห็นการณ์ไกล ทำให้วัดบ้านทวนเจริญด้วยการศึกษาเป็นอันมาก ด้วยคุณงามความดีของเจ้าอธิการม่วง ครั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เสด็จกลับ พ.ศ.๒๔๔๘ ได้ขอพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรให้เจ้าอธิการม่วง วัดบ้านทวน เจ้าคณะแขวงฯ เป็นที่พระครูสิงคิคุณาธาดา อันชื่อนี้เดิมชื่อ สิงคีบุรคณาจารย์ เป็นรองเจ้าคณะเมือง อยู่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) เมื่อพระครูสิงคีบุรคณาจารย์(สุด) มรณภาพ พ.ศ.๒๔๕๔ ในการตั้งใหม่ครั้งนี้ได้ทรงแก้เป็นพระครูสิงคิคุณธาดา ให้ได้ลำดับสัมผัสกัน ในยุคนั้นตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดลงมา ดังนี้ วิสุทธิรังสี วัดใต้ สิงคิคุณธาดา วัดบ้านทวน จริยาภิรัต วัดหนองขาว ยติวัตรวิบูล วัดศรีโลหะราษฎรบำรุง อดุลยสมณกิจ วัดเหนือ นิวัฐสมาจาร วัดหนองบัว วัตตสารโสภณ วัดดอนเจดีย์(เดิมชื่อวัดประจันตคาม) ในการเลื่อนสมณศักดิ์หลวงพ่อม่วงคราวนั้น เมืองกาญจน์ได้เลื่อนทั้งหมด ๔ องค์ด้วยกันคือ พระครูวิสุทธิรังสี(เปลี่ยน) วัดใต้ เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระวิสุทธิรังสี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะเมืองกาญจนบุรี ตั้งเจ้าอธิการพรต วัดศรีโลหะราษฎรบำรุง เป็นพระครูยติวัตรวิบูล เจ้าคณะหมวด ตั้งพระอธิการดี วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) เป็นพระครูอดุลยสมณกิจ ชื่อนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงคิดสำหรับพระอธิการดี เพราะโปรดว่าการปฏิบัติและกิจวัตรดีพร้อม เรียกว่าดีสมชื่อ ท่านองค์นี้ต่อมาได้เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ คือพระเทพมงคลรังสีเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ต่อจากหลวงพ่อเปลี่ยนวัดใต้ นับว่าเป็นพระราชาคณะชั้นเทพองค์แรกของเมืองกาญจน์เลยทีเดียว หลวงพ่อม่วง จันทสโร วัดบ้านทวน ทีนี้จะเล่าถึงหลวงพ่อม่วง เมื่อได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูสิงคิคุณาธาดา บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพเลื่อมใส ได้แสดงมุทิตาจิตทำบุญฉลองเป็นงานใหญ่ ด้วยอายุท่านก็ชรามาก ได้ออกเหรียญรูปไข่เป็นรูปท่านครึ่งองค์ ห่มลดไหล่ เหรียญหลวงพ่อม่วงนั้น มี ๒ แบบ คือแบบเหรียญหล่อ (พิมพ์ยันต์ใหญ่ ยันต์เล็ก) และเหรียญปั๊ม เหรียญหล่อเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้ารูปหลวงพ่อ (หน้าหนุ่ม หน้าแก่ หน้าโบราณ) มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๘ ตัว ด้านหลังมีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมว่า อิโส มิโส โมอะ นะลือ มีทั้งเงินและสำริด ส่วนเหรียญปั๊มนั้นเป็นรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้ารูปหลวงพ่อ มีอักขระขอมรอบเหรียญ ๑๖ ตัว ได้แก่ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ สัง วิ เพา ปุ กะ ยะ ปะ แปลว่า อิติปิโส มงคลฯ กับหัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์ ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระฤก อุปชาวัดบ้านทวน” และมีอักขระขอมว่า อิโส มิโส โมอะ นะลือ เช่นเดียวกัน มีเฉพาะเหรียญทองแดงเท่านั้น เหรียญของหลวงพ่อม่วงมีคนนิยมมาก มีประสบการณ์ในทางมหานิยม และแคล้วคลาดอันตรายเรื่องอยู่ยงคงกระพันชาตรี ก็มีคนเห็นฤทธิ์มามาก เหนียวดีจริงๆ ขณะนี้ชักหายากแล้ว ด้วยเป็นเหรียญยุคก่อน ออกมานานแล้ว มีคำขวัญว่า “ใครมีเหรียญวัดบ้านทวน ใครจะมาก่อกวนก็ไม่ต้องกลัว” จะขอกล่าวถึงอุปนิสัยของท่านบ้าง ท่านเป็นพระใจดีมีพรหมวิหารธรรม ใครได้พบได้สนทนาด้วย ก็รู้สึกอิ่มเอิบใจ ไม่ถือตัวถือชั้นวรรณะ เป็นกันเองแก่คนทั่วไป นอกจากเหรียญของท่านแล้ว ท่านยังทำแหวนพิรอดดังมาก จนมีคำขวัญว่า “ของดีของขลังของเมืองกาญจน์ก็มีลูกอมวัดหนองบัว แหวนพิรอดวัดบ้านทวน” ซึ่งดีทางคงกระพันชาตรี เวลาแจกเอาใส่เตาไฟ ไฟไม่ไหม้ จึงหยิบมาแจก นับว่าใช้อาคมกล้ามาก อันตำราทำแหวนพิรอดถักนี้เป็นของโบราณ สืบแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยนั้นในราชสำนักมีอาจารย์ฆราวาสชื่อดัง ๒ คน คือ พระวิชาจารย์มนตรี(อาจารย์ชาตรี) กับหลวงราชปรีชาหาญ(อาจารย์พิรอด) อาจารย์ ๒ คนนี้เคยไปกับ พระวิสูตรสุนทร(ปาน)หรือโกษาปาน ถึงประเทศฝรั่งเศส และได้ลองวิชาอาคมให้พระเจ้าหลุยส์ ประเทสฝรั่งเศสเป็นที่พอพระทัยมาก ได้รับรางวัลกลับเมืองไทยมากมาย หลวงพ่อม่วง(พระครูสิงคิคุณธาดา) บำรุงศาสนกิจมาด้วยความเรียบร้อย ท่านไม่เคยเจ็บป่วยออดแอด แต่พอชรามากก็หนีกฎธรรมดาไม่พ้น ได้ถึงมรณภาพด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๘๙ ปี ได้ทิ้งคุณงามความดีไว้เป็นที่ร่ำลือมาจนทุกวันนี้.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น