วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559
พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามลงชาดสีแดงและชาดสีดำ ชาด เป็นผงสีชนิดหนึ่งมีสีแดง บางครั้งเรียกชาดผง ชาดเขียนหวยหรือชาดตีตรา ได้มาจากการถลุงแร่ซินนาบาร์ แร่ซินนาบาร์ แร่ชนิดนี้ในตำรายาโบราณเรียกชาดจอแส ใช้สงบประสาทและถอนพิษ ก่อนใช้จะต้องฆ่าฤทธิ์ก่อน ส่วนชาดที่ได้จากเมอร์คิวรรีซัลไฟด์สังเคราะห์นั้นเรียกชาดหรคุณจีน "ชาด" ซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นก้อนคล้ายก้อนหิน มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น ชาดหรคุณ ชาดจอแส นิยมนำมาบดเป็นผงอาจผสมดินเทศให้มีสีแดงเข้มขึ้นทาตามอาคาร ชาวจีน และชาวเขิน(ไทยเขิน) มักใช้ในงานศิลปะ เช่น งานปิดทองล่องชาด งานเครื่องฮักเครื่องหาง และงานทาบนพระพุทธรูป และพระพิมพ์ เป็นต้น ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา สยามรับอิทธิพลและนำศิลปะจีนมาประยุกต์ใช้ในราชสำนักอย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดงานประณีตศิลป์ เช่น งานลงรักปิดทอง งานประดับมุก งานประดับกระจก การทำมุกแกมเบื้อ ซึ่งการลงชาดก็เป็นงานฝีมืออีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการทำอาคารสถานที่ การทำตู้พระไตรปิฎก การทำตู้ลายกำมะลอ และการทาชาดลงบนพระพุทธรูปและพระพิมพ์ ความนิยมดังกล่าวสืบเนื่องตั้งแต่สมัยล้านนามาจนถึงรัตนโกสินทร์ ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง โดยปิดทองและทาชาด ทำให้พระพุทธรูปดูโดดเด่นงดงาม และนิยมมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในบางครั้งจะพบเห็นพระพุทธรูปเก่าๆ มีรอยกะเทาะจนเห็นริ้วสีแดงอยู่ภายในดูเผินๆ เหมือนเส้นโลหิต เป็นเหตุให้ร่ำลือไปต่างๆ นานา ซึ่งความจริงแล้วสีแดงที่เห็นเป็นสีของชาดซึ่งนำมาใช้แทนการใช้รักซึ่งมีสี ดำ ดังนั้น วิธีการดูพระพุทธรูป พระเครื่อง และพระพิมพ์เก่าอีกประการหนึ่งก็คือ ให้ดูความเก่าของชาดให้เป็น ยิ่งพระที่นิยมในราชสำนักแล้วจะใช้ชาดหรคุณ หรือชาดหรคุณไทย ซึ่งมีสีแดงจัดจ้าน มีน้ำหนักในตัว และเกาะติดทนนาน ส่วนผสมสำคัญในการปรุงชาดคือ 1. สี : ตามปกติแล้วจะใช้รงควัตถุจากธรรมชาติ เช่น ชาดแดง เสน หรือสีฝุ่น เพื่อให้เกิดสีตามที่ต้องการ 2. โกฐจุฬาลัมพา : ใช้เป็นตัวดูดซับสี 3. ดินขาว : ใช้เป็นตัวผสมส่วนประกอบให้เข้ากัน 4. น้ำมันละหุ่ง : ใช้เป็นตัวละลายสี 5. พิมเสน : ใช้ฆ่าเชื้อ สีแดงเป็นสีสำคัญของชาด แต่นอกจากคุณสมบัติเรื่องสี ชาดดียังต้องดูเรื่องอื่นๆอีกด้วย โดยพิจารณาสิ่งสำคัญๆดังนี้ ลักษณะของชาดคุณภาพไม่ดี จะเห็นข้อสังเกต 2 อย่างคือ 1 สีจางไม่สด 2 น้ำหนักสีจะไม่เท่ากัน สีแดงจะเกาะเป็นจ้ำๆ แสดงว่าชาดนี้ใส่โกฐจุฬาลัมพาปริมาณน้อย ลักษณะของชาดคุณภาพดี 1 ชาดดีจะมีความมัน ชาดดีมีน้ำมันอยู่พอสมควรไม่มากจนเยิ้มและเนื้อชุ่มกว่าชาดเนื้อไม่ดี 2 เนื้อละเอียดไม่แห้งมีความชุ่ม ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าชาดไม่ดีจะเนื้อค่อนข้างแห้ง เนื้อไม่ละเอียด ไม่ค่อยมีความชุ่มเท่าใด สีของชาด แท้จริงแล้วมีหลายสีแต่ว่า โดยพื้นฐานแล้วแบ่งเป็น 2 แบบดังนี้ 1. สีแดง เนื่องจากเป็นสีที่ใช้กันมากที่สุดจึงมีแบ่งเฉดสีออกไปอีก 3 เฉด คือ 1.1 กวงหมิง (อรุณกระจ่าง) เป็นชาดสีแดงอมส้ม 1.2 เหมยลี่ (งามชดช้อย) เป็นชาดสีแดงอมม่วง แบบสีแดงเปลือกมังคุด 1.3โกวเส่อ (โบราณรงค์) เป็นชาดสีแดงน้ำตาล 2. สีอื่นๆ เช่น สีดำ สีขาว สีเหลือง สีเขียว สีคราม สีทอง ฯลฯ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น